ผู้แทนสถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก ร่วมให้กำลังใจและเยี่ยมชมผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยที่นำมาจัดแสดงและร่วมประกวดในงาน International Trade Fair - Ideas, Inventions and New Products (iENA 2022)

ผู้แทนสถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก ร่วมให้กำลังใจและเยี่ยมชมผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยที่นำมาจัดแสดงและร่วมประกวดในงาน International Trade Fair - Ideas, Inventions and New Products (iENA 2022)

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 ต.ค. 2565

| 732 view

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565 นางสาวปาริฉัตร พันธ์รักษ์เดชา กงสุล (ฝ่ายเศรษฐกิจ) นางสาวประภาวดี บุญช่วยเกื้อกูล กงสุล (ฝ่ายพิธีการทูต การศึกษา และวัฒนธรรม) และนางสาววรทิพย์ โอตระกูล กงสุล (ฝ่ายการเมือง) ได้เป็นผู้แทนสถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก เข้าร่วมให้กำลังใจและเยี่ยมชมผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยที่นำมาจัดแสดงและร่วมประกวดในงาน International Trade Fair - Ideas, Inventions and New Products (iENA 2022) ที่ Nürnberg Messe เมือง Nürnberg รัฐไบเอิร์น ระหว่างวันที่ 27 - 30 ตุลาคม 2565 โดยในโอกาสนี้มีนางสาววิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้การต้อนรับและนำชมผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยรวม 29 ผลงานจากสถาบันและหน่วยงานในไทย 10 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง และศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยผลการเข้าร่วมประกวด คือ นักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยได้รับรางวัลเหรียญทอง 10 ผลงาน เหรียญเงิน 13 ผลงาน และเหรียญทองแดง 6 ผลงาน จากทั้งสิ้น 500 ผลงานจาก 20 ประเทศที่ส่งเข้าร่วมประกวด

ทั้งนี้ iENA เป็นงานจัดแสดงและประกวดผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมใหม่ ๆ จากทั่วโลก จัดโดยนาย Thilo และ Henning Könicke ซึ่งสืบทอดเจตนารมณ์ในการจัดงานดังกล่าวของบิดาที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2491 (ค.ศ. 1948) ที่เมือง Nürnberg รัฐไบเอิร์น และได้จัดต่อเนื่องเป็นประจำเกือบทุกปี โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 74 และนอกจากนักวิจัยและนักประดิษฐ์แล้ว งานฯ ยังดึงดูดนักลงทุน ผู้ประกอบการตัวแทนจำหน่าย ที่ปรึกษาด้านนวัตกรรม และองค์กรสิทธิบัตรต่าง ๆ โดยในส่วนของประเทศไทย วช. ได้นำผลงานของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ของไทยไปจัดแสดงและประกวดในงาน iENA ตั้งแต่ปี 2561 (ค.ศ. 2018) เป็นต้นมา (ยกเว้นปี 2563 - 2564 ที่ไม่สามารถเข้าร่วมได้เนื่องจากข้อจำกัดในการเดินทางจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19) ซึ่งที่ผ่านมา นักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยได้สร้างผลงานที่เป็นที่ยอมรับและได้รับรางวัลจากงานดังกล่าวทุกปี

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ