บริการประชาชน

บริการประชาชน

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.พ. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 5,205 view

จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม

 

ชาวเยอรมันที่มีภูมิลำเนาในประเทศเยอรมนีประสงค์จะรับเด็กไทยเป็นบุตรบุญธรรม (ไม่ว่าจะเป็นเด็กจากบ้านเด็กกำพร้า หรือ เด็กที่เป็นลูกติดของคู่สมรสตนเอง หรือ เด็กที่เป็นหลานของคู่สมรสตนเอง) ควรยื่นคำขอต่อสำนักงานคุ้มครองเด็กและเยาวชนประจำรัฐที่ตนมีภูมิลำเนา หรือหน่วยงานอื่น ๆ หรือองค์การสวัสดิภาพเด็กที่รัฐบาลของประเทศเยอรมนีแต่งตั้งให้ดำเนินการเพื่อให้มีการรับเด็กเป็น บุตรบุญธรรมระหว่างประเทศ โดยควรติดต่อไปยังกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไปพร้อมกันด้วย


ติดต่อส่วนราชการไทยและเยอรมันได้ที่: 

ประเทศไทย

ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (Child Adoption Centre)
กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
255 ถนนราชวิถี
กรุงเทพฯ 10400
โทร: +66 (0) 2 354-7509, +66 (0) 2 354-7515, +66 (0) 2 644-7996
แฟกซ์: +66(0)2 354-7511
อีเมล: [email protected]
เว็บไซต์: www.adoption.dsdw.go.th

ประเทศเยอรมนี

ศูนย์อำนวยการขอรับเด็กต่างชาติเป็นบุตรบุญธรรมกลางเยอรมนี
(Bundeszentralstelle für Auslandsadoption – Generalbundesanwalt)
Adenauer Allee 99 – 103, 53113 Bonn
โทร: +49 (0) 228-99-4100–5414, 5415
แฟกซ์: +49 (0) 228-99-410 – 5402
อีเมล์: [email protected]
เว็บไซต์: www.bundesjustizamt.de (Bundesamt für Justiz)
คลิกหัวข้อ “Zivilrecht” เพื่ออ่านข้อมูลการรับเด็กต่างชาติเป็นบุตรบุญธรรม


การรับเด็กไทยหรือบุคคลสัญชาติไทยเป็นบุตรบุญธรรม

ก. หลักเกณฑ์และคุณสมบัติในการรับบุตรบุญธรรม
ข. การเตรียมเอกสารเพื่อดำเนินการขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
ค. การนำส่งคำร้องขอพร้อมเอกสารประกอบ
ง. ขั้นตอนการดำเนินเรื่องในประเทศไทย
จ. สิทธิและหน้าที่ของบุตรบุญธรรม
ฉ. สิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาบุญธรรม
ช. การเลิกรับบุตรบุญธรรม
ซ. กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ญ. หมายเหตุ


ก. หลักเกณฑ์และคุณสมบัติในการรับบุตรบุญธรรม

  • ผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี
  • ผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุมากกว่าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี
  • ในการรับบุคคลที่มีอายุมากกว่า 15 ปีเป็นบุตรบุญธรรม ต้องให้บุคคลนั้นให้ความยินยอมด้วย
  • ในการรับบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเป็นบุตรบุญธรรม จะทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากบิดาและมารดาของผู้เยาว์นั้นก่อน ในกรณีที่ผู้เยาว์นั้นถูกทอดทิ้งและอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์เด็ก ให้ขอความยินยอมจากผู้มีอำนาจในสถานสงเคราะห์เด็กนั้นแทน
  • กรณีผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรมและผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมสามารถขอจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมที่อำเภอที่ตนมีภูมิลำเนาได้เลย ทั้งนี้ ไม่มีการจำกัดอายุของผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม
  • ในกรณีที่ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมมีคู่สมรสแล้ว ต้องให้คู่สมรสให้ความยินยอมด้วย
  • ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลใดบุคคลหนึ่งอยู่ จะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นอีกในขณะเดียวกันไม่ได้ เว้นแต่จะเป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม
  • หากผู้ขอรับเป็นชาวต่างชาติจะต้องมีคู่สมรส ยกเว้นผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมที่เป็นผู้มีสัญชาติไทย
  • ต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้ตามกฎหมายของประเทศที่ผู้ขอรับมีภูมิลำเนาอยู่
  • การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมายไทยแล้วเท่านั้น

ข. การเตรียมเอกสารเพื่อดำเนินการขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม

เอกสารที่ฝ่ายผู้ขอรับเด็กต้องเตรียมที่ประเทศเยอรมนี ขอแนะนำให้ผู้ประสงค์ขอรับเด็กไทยเป็นบุตรบุญธรรมติดต่อผ่านสำนักงานคุ้มครองเด็กและเยาวชนประจำรัฐที่ผู้ขอมีภูมิลำเนาอยู่ (Landesjugendamt) เพื่อประโยชน์ในการขอรับการตรวจลงตราเข้าประเทศเยอรมนีให้กับเด็กที่จะรับมาเป็นบุตรบุญธรรม โดยควรติดต่อไปยังกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไปพร้อมกันด้วย
ผู้ประสงค์ขอรับเด็กไทยเป็นบุตรบุญธรรมต้องยื่นแบบคำขอเด็กไทยเป็นบุตรบุญธรรมพร้อมกับคู่สมรส โดยต้องยื่นเอกสารดังรายการต่อไปนี้

  • แบบคำขอรับบุตรบุญธรรม
  • สำเนาหนังสือเดินทาง หรือ เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง หรือ ใบสำคัญถิ่นที่อยู่
  • เอกสารรับรองการสมรส (ทะเบียนการสมรส)
  • คำพิพากษาหย่า หรือ ทะเบียนหย่า (กรณีได้เคยสมรสมาก่อน)
  • ใบรับรองแพทย์ซึ่งแสดงว่ามีร่างกายและจิตใจสมบูรณ์
  • เอกสารรับรองการทำงานและรายได้
  • เอกสารรับรองการเงินย้อนหลังไปไม่เกิน 6 เดือน
  • เอกสารรับรองทรัพย์สิน
  • รูปถ่ายของผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมและคู่สมรสสีขนาด 4.5 x 6.0 ซ.ม. ซึ่งถ่ายมาแล้วไม่เกิน 6 เดือน จำนวนคนละ 4 รูป
  • หนังสือแสดงความยินยอมของคู่สมรสหรือคำสั่งอนุญาตของศาลแทนการให้ความยินยอมของคู่สมรส
  • เอกสารรับรองความประพฤติและความเหมาะสมทั่วไปของผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมจากผู้เชื่อถือได้อย่างน้อย 2 คน
  • รายงานการศึกษาสภาพครอบครัวของผู้รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
  • เอกสารการตรวจคนเข้าเมืองที่ประเทศเยอรมนีรับรองการอนุญาตให้เด็กเข้าประเทศเยอรมนีได้
  • เอกสารจากหน่วยงานเยอรมันที่เกี่ยวข้องที่รับรองว่าผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมมีคุณสมบัติและความเหมาะสมที่สามารถรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้ตามกฎหมายของประเทศเยอรมัน
  • หนังสือรับรองว่าจะทำการควบคุมการทดลองเลี้ยงดูเด็กและส่งรายงานผลการทดลองเลี้ยงดูมาให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ไม่เกิน 2 เดือนต่อครั้ง เป็นระยะเวลา 6 เดือน
  • กรณีการติดต่อผ่านองค์การสวัสดิภาพเด็กเอกชนจะต้องมีสำเนาใบอนุญาตขององค์การและหนังสือจากหน่วยงานรัฐบาลซึ่งรับรององค์การนั้นๆ ด้วย
  • หนังสือรับรองดำเนินการตามกฎหมายไทย
    (เอกสารที่ผู้ขอรับบุตรบุญธรรมชาวต่างชาติต้องกรอกให้คำสัญญาว่าจะจดทะเบียนบุตรบุญธรรมให้ถูกต้องทั้งตามกฎหมายไทยและกฎหมายเยอรมัน)
    เอกสารทุกฉบับข้างต้น (หากเป็นภาษาเยอรมันต้องแปลเป็นภาษาไทยก่อน โดยล่ามที่ได้รับอนุญาตจากศาลเยอรมัน หากเป็นภาษาอังกฤษไม่ต้องแปลเป็นภาษาไทยแต่อย่างใด) ต้องนำมารับรองที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน หรือ สถานกงสุลใหญ่ฯ ก่อนนำส่งไปยังกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (ตามที่อยู่ข้างล่าง)

เอกสารของฝ่ายที่จะยกเด็กให้ (บิดามารดาเด็ก หรือผู้ปกครองโดยชอบตามกฎหมาย)

  • บัตรประจำตัวประชาชนของบิดาและมารดา หรือของผู้ปกครองโดยชอบตามกฎหมาย
  • ทะเบียนบ้าน
  • ทะเบียนสมรส
  • ทะเบียนหย่า หรือ คำสั่งศาลให้หย่า
  • หนังสือรับรองจากสำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอ ตามแบบ ปค. 14 รับรองว่าบิดา มารดาเด็กมิได้จดทะเบียนสมรสกัน บิดาเด็กไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตร และได้เลิกร้างกันเป็นเวลานานกี่ปีด้วย
  • หนังสือแสดงความยินยอมของบิดามารดาหรือของผู้ปกครองโดยชอบตามกฎหมายให้ความยินยอม (แบบ บธ.5)
  • บันทึกสอบปากคำตามแบบ ปค. 14
  • รูปถ่ายขนาด 4.5 x 6.0 ซ.ม. ของบิดาและมารดาเด็กคนละ 1 รูป
  • เอกสารอื่นๆ (หากมี หรือ จำเป็นต้องขอเพิ่มแล้วแต่กรณี)

เอกสารของฝ่ายเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรม

  • สูติบัตร
  • ทะเบียนบ้าน
  • รูปถ่ายขนาด 4.5 x 6.0 ซ.ม. 1 รูป
  • หนังสือแสดงความยินยอมของเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรม (แบบ บธ.6) หากเด็กมีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป
  • เอกสารอื่นๆ (หากมี หรือ จำเป็นต้องขอเพิ่มแล้วแต่กรณี)

ค. การนำส่งคำร้องขอพร้อมเอกสารประกอบ

หลังจากที่เตรียมเอกสารตามรายการข้างต้นเรียบร้อยแล้ว สามารถดำเนินการต่อไปได้ดังนี้

  1. ขอให้สถานคุ้มครองเด็กและเยาวชนของรัฐ (Landesjugendamt) เป็นผู้ติดต่อกับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เพื่อขอให้ดำเนินการพิจารณาอนุมัติ ตามที่อยู่ดังนี้
    กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
    ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (Child Adoption Centre)
    255 ถนนราชวิถี
    กรุงเทพมหานคร 10400
    โทร. (+66) 2 354-7500, (+66) 2 354-7511
    แฟกซ์ (+66) 2 247 9480
    อีเมล: [email protected]
    หรือ

  2. ยื่นคำร้องพร้อมเอกสารประกอบด้วยตัวเองที่ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมตามที่อยู่ข้างต้น


ง. ขั้นตอนการดำเนินเรื่องในประเทศไทย

  1. เมื่อเอกสารหลักฐานต่างๆ สมบูรณ์แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะพิจารณาว่า ผู้ขอรับเด็กมีคุณสมบัติตามกฎหมายหรือไม่ หากพบว่ามีคุณสมบัติเหมาะสม มีฐานะความเป็นอยู่ดี มีอุปนิสัยดี ความประพฤติดี อาชีพรายได้ดี ฐานะของครอบครัวดี ตลอดจนสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจสมบูรณ์ เหมาะสมที่จะรับเด็กไปอุปการะเลี้ยงดูได้ ก็จะประมวลรายละเอียดเสนออธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พิจารณาก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมพิจารณาอนุมัติคุณสมบัติผู้ขอรับเด็ก หากเป็นกรณีที่มอบเด็กให้กันเอง คณะกรรมการฯ จะพิจารณาเด็กควบคู่กันไปในคราวเดียวกันด้วย

  2. กรณีขอรับเด็กกำพร้าของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เมื่อคณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรธรรมพิจารณาอนุมัติคุณสมบัติผู้ขอรับเด็กแล้ว คณะกรรมการคัดเลือกเด็กให้เป็นบุตรบุญธรรมจะพิจารณาคัดเลือกเด็กของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการให้แก่ผู้ขอรับตามบัญชีก่อนหลัง

  3. กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจะแจ้งประวัติเด็กพร้อมรูปถ่ายให้ผู้ขอรับพิจารณาผ่านหน่วยงานเยอรมันที่ติดต่อเรื่องการขอรับเด็กไทยเป็นบุตรบุญธรรมมา

  4. เมื่อผู้ขอรับแจ้งตอบรับเด็กให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการทราบแล้ว เจ้าหน้าที่จะเสนอให้คณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมพิจารณาให้ผู้ขอรับรับเด็กไปทดลองเลี้ยงดูโดยขออนุญาตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก่อนนำเด็กออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อทดลองเลี้ยงดู

  5. เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์อนุญาต กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจะนัดหมายให้ผู้ขอรับเด็กมารับการสัมภาษณ์จากคณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมและรับเด็กไปทดลองเลี้ยงดูเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน โดยหน่วยงานที่ติดต่อเรื่องมา หรือ สถานทูต/สถานกงสุล จะทำการควบคุมการทดลองเลี้ยงดูและส่งรายงานผลการทดลองเลี้ยงดูมาให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ 2 เดือนต่อครั้ง เป็นระยะเวลา 6 เดือน

  6. เมื่อทดลองเลี้ยงดูมาครบ 6 เดือน และมีรายงานผลการทดลองเลี้ยงดูครบ 3 ครั้ง ซึ่งหากว่าผลการทดลองเลี้ยงดูเป็นที่น่าพอใจ เด็กอาศัยกับครอบครัวของผู้ขอรับอย่างมีความสุข เจ้าหน้าที่จะสรุปรายงานเสนอต่อคณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม เพื่อพิจารณาอนุมัติให้ผู้ขอรับไปดำเนินการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมตามกฎหมายได้

  7. ผู้ขอรับจะต้องไปดำเนินการขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ณ สถานเอกอัครราชทูตฯ หรือ สถานกงสุลใหญ่ฯ ที่ผู้ขอรับเด็กมีภูมิลำเนาอยู่ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจะมีหนังสือขอความร่วมมือจากกระทรวงต่างประเทศผ่านกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมกับแจ้งให้หน่วยงานเยอรมันผู้ติดต่อเรื่องการขอรับเด็กไทยเป็นบุตรบุญธรรมมาและผู้ขอรับเด็กได้ทราบพร้อมกันนั้นด้วย
    กรณีที่ผู้ขอรับเด็กอยู่ในประเทศไทย การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมสามารถดำเนินการได้ที่สำนักงานเขต ที่ว่าการอำเภอ หรือ ที่ว่าการกิ่งอำเภอ ซึ่งเป็นการร้องขอจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้เช่นเดียวกับการขอบุตรบุญธรรมไทย

  8. สถานเอกอัครราชทูตฯ หรือ สถานกงสุลใหญ่ฯ จะนำส่งสำเนาเอกสารทะเบียนการรับบุตรบุญธรรม (คร. 14) จำนวน 1 ชุด ให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการเพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าการดำเนินการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมของผู้ขอรับเด็กได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ทุกประการ

  9. หากบิดามารดาบุญธรรมต้องการให้บุตรบุญธรรมมาใช้นามสกุลของตน หลังจากที่ได้ดำเนินการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมกับทางการไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สามารถทำได้โดยนำหลักฐานการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมไปยื่นที่อำเภอที่เด็กมีชื่อในทะเบียนบ้าน เพื่อขอแก้ไขนามสกุลในทะเบียนบ้าน และ ขอคัดสำเนาทะเบียนบ้านที่มีนามสกุลตามบิดามารดาบุญธรรมไปขอเปลี่ยนนามสกุลในหนังสือเดินทางต่อไป


จ. สิทธิและหน้าที่ของบุตรบุญธรรม

บุตรบุญธรรมที่ได้มีการจดทะเบียนโดยถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดแล้ว มีสิทธิและหน้าที่ต่อบิดามารดาบุญธรรมดังนี้ คือ

  1. มีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดามารดาบุญธรรม คือ มีสิทธิได้รับการอุปการะเลี้ยงดู ส่งเสียให้ได้รับการศึกษา มีสิทธิได้ใช้นามสกุลของบิดามารดาบุญธรรม และมีสิทธิได้รับมรดกเหมือนบุตรชอบด้วยกฎหมาย

  2. มีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาบุญธรรม ทำนองเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมาย


ฉ. สิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาบุญธรรม

  1. บิดามารดาบุญธรรมมีสิทธิใช้อำนาจปกครองกับบุตรบุญธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดาบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมนั้น มีลักษณะคล้ายคลึงกับบิดามารดากับบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะฉะนั้นบุตรบุญธรรมจึงต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดาบุญธรรม คือ มีสิทธิกำหนดที่อยู่ของบุตรบุญธรรม ทำโทษบุตรบุญธรรมตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน เป็นต้น

  2. บิดามารดาบุญธรรมไม่มีสิทธิรับมรดกของบุตรบุญธรรมในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรม แต่สามารถรับมรดกในฐานะเป็นผู้รับพินัยกรรมแทน

  3. บิดามารดาบุญธรรมมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรบุญธรรมทำนองเดียวกับบิดามารดาซึ่งมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรโดยชอบกฎหมาย


ช. การเลิกรับบุตรบุญธรรม

การเลิกรับบุตรบุญธรรม มีได้ 3 ประการคือ

  1. การเลิกรับบุตรบุญธรรมโดยความตกลง เกิดจากความตกลงของผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว จะตกลงกันเมื่อใดก็ได้ แต่จะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมายแล้ว

  2. การเลิกเมื่อมีการสมรสกัน แม้ว่ากฎหมายจะห้ามผู้รับบุตรบุญธรรมสมรสกับบุตรบุญธรรมก็ตาม แต่เนื่องจากบุคคลทั้งสองไม่ได้มีความผูกพันทางสายโลหิต การสมรสโดยฝ่าฝืนเงื่อนไขดังกล่าวจึงไม่เสื่อมเสียหรือเป็นโมฆะแต่อย่างใด การสมรสดังกล่าวมีผลเป็นการยกเลิกการรับบุตรบุญธรรมตั้งแต่เวลาที่จดทะเบียนสมรสกัน โดยไม่ต้องจดทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรมอีก

  3. การเลิกรับบุตรบุญธรรมโดยคำสั่งศาล ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสามารถนำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาลเพื่อขอเลิกรับบุตรบุญธรรม โดยมีมูลเหตุตามที่กฎหมายกำหนด


ซ. กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2533
  • กฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522

ญ. หมายเหตุ

กรณีที่ท่านได้ขอรับเด็กไทยมาเป็นบุตรบุญธรรมโดยกฎหมายเยอรมัน (เช่น โดยคำอนุญาตของศาลเยอรมัน) ไม่ถือว่าเป็นการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมายไทยด้วยแต่อย่างใด