บริการประชาชน

บริการประชาชน

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.พ. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 22,156 view

การขอสละสัญชาติไทย

 

บุคคลสัญชาติไทย หากต้องการสละสัญชาติไทย สามารถดำเนินการได้ตามขั้นตอนดังนี้

ขั้นตอนการขอสละสัญชาติไทย

ขั้นตอนทะเบียนราษฎร์


การยื่นคำร้องขอสละสัญชาติไทยแบบที่ 1 (ชายหรือหญิงซึ่งได้แปลงสัญชาติตามคู่สมรส)

มาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 ระบุว่า “หญิงซึ่งมีสัญชาติไทยและได้สมรสกับชาวต่างด้าวและอาจถือสัญชาติของสามีได้ตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของสามี ถ้าประสงค์จะสละสัญชาติไทยให้แสดงความจำนงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง”

การขอสละสัญชาติไทยของหญิงสัญชาติไทยที่ขอโอนสัญชาติตามสามีชาวเยอรมัน (ในกรณีนี้ท่านสามารถขอกลับคืนสัญชาติไทยได้) หากท่านยังไม่ได้เปลี่ยนนามสกุลหลังการสมรส ท่านต้องดำเนินการเปลี่ยนนามสกุลหลังสมรส ก่อนที่จะมายื่นคำร้องขอสละสัญชาติไทย

เอกสารที่ต้องเตรียม

  • แบบ ส.ช. 1 (ดาวน์โหลด)
  • แบบกรอกประวัติผู้ร้องขอสละสัญชาติไทย (ดาวน์โหลด)
  • บันทึกการสอบสวนการขอสละสัญชาติไทย (ดาวน์โหลด)
  • บันทึกสอบสวนพยาน (ดาวน์โหลด)
  • ทะเบียนสมรสที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการเยอรมันที่เกี่ยวข้อง พร้อมคำแปลจำนวน 2 ชุด
  • หนังสือสำคัญการแปลงสัญชาติที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการเยอรมันที่เกี่ยวข้อง พร้อมคำแปลจำนวน 2 ชุด (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ “รายชื่อหน่วยงานราชการเยอรมันสำหรับการรับรองเอกสารราชการเยอรมัน”)
  • สำเนาหนังสือเดินทางไทย 2 ชุด
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไทย 2 ชุด
  • สำเนาทะเบียนบ้านไทย 2 ชุด
  • สำเนาสูติบัตร (ใบเกิด) 2 ชุด
  • รูปถ่ายสีปัจจุบันของท่าน 12 รูป
  • รูปถ่ายสีของบิดาผู้ให้กำเนิด 6 รูป
  • รูปถ่ายสีของมารดาผู้ให้กำเนิด 6 รูป
  • รูปถ่ายสีของสามีชาวเยอรมัน 6 รูป
  • หนังสือเดินทางสามีชาวเยอรมันพร้อมคำแปล 1 ชุด
  • หลักฐานประจำตัวของพยานคนไทย คือ สำเนาหนังสือเดินทางไทย 1 ชุด/สำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชนไทย 1 ชุด

การยื่นคำร้องขอสละสัญชาติไทยแบบที่ 2 (ผู้ทีได้สัญชาติไทยเพราะเกิดในประเทศไทย หรือ เพราะการแปลงสัญชาติตามมาตรา 14 และ 15)

มาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 ระบุว่า “ผู้ที่มีสัญชาติไทยซึ่งเกิดในขณะที่บิดาหรือมารดาเป็นคนต่างด้าวและได้สัญชาติของบิดาหรือมารดาวด้วยกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของบิดาหรือมารดา หรือผู้ซึ่งได้สัญชาติไทยตามมาตรา 12 วรรค 2 หรือมาตรา 12/1 (2) และ (3) ถ้ายังประสงค์จะถือสัญชาติอื่นอยู่ต่อไป ให้แสดงความจำนงสละสัญชาติไทยตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์

มาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 ระบุว่า “ผู้ที่มีสัญชาติไทยและสัญชาติอื่นหรือผู้ซึ่งได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ถ้าประสงค์จะสละสัญชาติไทย ให้ยื่นคำร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ”

ในกรณีนี้ท่านไม่สามารถขอกลับคืนสัญชาติไทยได้

ผู้ที่เข้าข่ายที่จะยื่นคำร้องสละสัญชาติไทยตามมาตรา 14 และ 15 ข้างต้น ได้แก่

  1. ผู้ที่มีสัญชาติไทยเพราะเกิดในประเทศไทยขณะที่บิดาเป็นคนต่างด้าว และอาจถือสัญชาติของบิดาได้ตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของบิดา
  2. ผู้ซึ่งได้สัญชาติไทยโดยบิดาหรือมารดาขอแปลงสัญชาติเป็นไทยให้ในขณะที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
  3. ผู้ที่มีสัญชาติไทยเพราะเกิดในประเทศไทยขณะที่บิดาเป็นคนต่างด้าว และอาจถือสัญชาติของบิดาได้ แต่ไม่ได้แสดงความจำนงขอสละสัญชาติไทยภายใน 1 ปีนับแต่วันที่มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์
  4. ผู้ซึ่งได้สัญชาติไทยโดยบิดาหรือมารดาขอแปลงสัญชาติเป็นไทยให้ในขณะที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ แต่ไม่ได้แสดงความจำนงขอสละสัญชาติไทยภายใน 1 ปีนับแต่วันที่มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์
  5. ผู้ซึ่งมีสัญชาติไทยและสัญชาติอื่น
  6. ผู้ซึ่งมีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ

เอกสารที่ต้องเตรียม

  • แบบ ส.ช. 2 (ดาวน์โหลด)
  • แบบกรอกประวัติผู้ร้องขอสละสัญชาติไทย (ดาวน์โหลด)
  • บันทึกการสอบสวนการขอสละสัญชาติไทย (ดาวน์โหลด)
  • บันทึกสอบสวนพยาน (ดาวน์โหลด)
  • หนังสือสำคัญการแปลงสัญชาติที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการเยอรมันที่เกี่ยวข้อง พร้อมคำแปลจำนวน 2 ชุด (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ “รายชื่อหน่วยงานราชการเยอรมันสำหรับการรับรองเอกสารราชการเยอรมัน”)
  • สำเนาหนังสือเดินทางไทย 2 ชุด
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไทย 2 ชุด
  • สำเนาทะเบียนบ้านไทย 2 ชุด
  • สำเนาสูติบัตร (ใบเกิด) 2 ชุด
  • รูปถ่ายสีปัจจุบันของท่าน 12 รูป
  • รูปถ่ายสีของบิดาผู้ให้กำเนิด 6 รูป
  • รูปถ่ายสีของมารดาผู้ให้กำเนิด 6 รูป
  • หลักฐานประจำตัวของพยานคนไทย คือ สำเนาหนังสือเดินทางไทย 1 ชุด/สำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชนไทย 1 ชุด

การยับยั้งการขอสละสัญชาติ

ท่านสามารถขอยับยั้งการขอสละสัญชาติหากการขอสละสัญชาติของท่านยังอยู่ในช่วงพิจารณาและท่านยังไม่เสียสัญชาติไทย โดยส่งแบบฟอร์มขอยับยั้งการขอสละสัญชาติ กรอกเสร็จแล้วกรุณาส่งมาที่สถานกงสุลฯเพื่อการดำเนินการต่อไป


สิ่งที่ควรรู้สำหรับการขอสละสัญชาติทุกกรณี

  • การส่งคืนหนังสือเดินทางไทยไปยังสถานเอกอัครราชทูตฯ หรือ สถานกงสุลใหญ่ฯ ไม่ถือว่าเป็นการแสดงความจำนงในการยื่นคำร้องสละสัญชาติ
  • การเสียสัญชาติไทยจะมีผลโดยสมบูรณ์ต่อเมื่อมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508
  • การเสียสัญชาติไทยหมายถึงการเสียสิทธิอันพึงมีในฐานะคนไทย ทั้งการถือครองที่ดินและทรัพย์สินต่างๆ การต้องเดินทางเข้าประเทศไทยในฐานะคนต่างด้าว ฯลฯ
  • ในการกรอกคำร้องขอสละสัญชาติ ผู้ร้องต้องทราบข้อมูลของพยานที่รู้เห็นการเกิดของผู้ร้อง อย่างน้อย 4 คน โดยจะต้องระบุชื่อ ชื่อสกุล ที่อยู่ อาชีพ และ วัน/เดือน/ปีเกิด
  • ในการกรอกคำร้องขอสละสัญชาติ ผู้ร้องต้องทราบข้อมูลของพี่น้องร่วมบิดา มารดาเดียวกัน โดยจะต้องระบุชื่อ ชื่อสกุล ที่อยู่ อาชีพ และ วัน/เดือน/ปีเกิด
  • หญิงสัญชาติไทยที่สมรสกับคนต่างด้าว และต่อมาคู่สมรสเสียชีวิต ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากการสละสัญชาติตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 นั้น ต้องใช้เอกสาร (แบบ ส.ช. 1) สามีจะต้องมาเป็นผู้ลงนามต่อหน้าเจ้าหน้าที่ ไม่สามารถใช้ใบมรณบัตรสามีแทนได้
  • เด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (20 ปีบริบูรณ์) ไม่สามารถยื่นคำร้องสละสัญชาติไทยได้
  • การยื่นคำร้องขอสละสัญชาติเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ผู้ร้องต้องให้เวลาในการเขียนคำร้องและเตรียมเอกสาร กรณีเอกสารไม่สมบูรณ์ หากส่งเรื่องไปยังหน่วยงานในประเทศไทยแล้วเจ้าหน้าที่ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ให้ได้ ยิ่งทำให้การดำเนินการล่าช้ายิ่งขึ้น
  • เจ้าหน้าที่อาจเรียกเอกสารเพิ่มเติมได้แล้วแต่กรณี
  • การดำเนินการสละสัญชาติไทยจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี หรือนานกว่านี้ เวลานับตั้งแต่วันที่คำร้องของท่านส่งไปถึงเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเรื่องการขอสละสัญชาติไทยที่กระทรวงมหาดไทย (สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่กรุงเทพมหานคร)
  • ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ (เช่น ค่าธรรมเนียมยื่นคำร้อง ค่าธรรมเนียมการรับรองเอกสาร เป็นต้น) ท่านจะทราบและชำระเมื่อวันมาเซ็นต์ชื่อในคำร้อง
  • หน่วยงานราชการไทยที่รับผิดชอบเรื่องการสละสัญชาติไทย คือ กองบังคับการตำรวจสันติบาล 2 ในกรุงเทพมหานคร ดังนั้น หากผู้ยื่นคำร้องต้องการดำเนินเรื่องอย่างเร็ว สามารถไปยื่นคำร้องขอสละสัญชาติไทยที่ กองบังคับการตำรวจสันติบาล 2 ได้ โดยยื่นเอกสารตามรายละเอียดข้างต้น ที่

กองบังคับการตำรวจสันติบาล 2
ซอย รามอินทรา 21
แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน
กรุงเทพมหานคร 10220 ประเทศไทย
โทรศัพท์ +66-2-551-2506-7
แฟกซ์ +66-2-551-2508