บริการประชาชน

บริการประชาชน

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ก.พ. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 9,017 view

สูติบัตร

 

บุคคลสัญชาติไทยที่มีบุตรเกิดในเยอรมนี สามารถแจ้งเกิดบุตรที่สถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก เพื่อขอสูติบัตรไทย (ใบเกิดไทย) ให้บุตรได้ ไม่ว่าบุตรของท่านเป็นบุตรที่เกิดจากบิดามารดาสัญชาติไทย หรือ เป็นลูกครึ่งไทย-เยอรมัน หรือ ไทย-สัญชาติอื่นๆ

ขั้นตอนการขอสูติบัตรไทย

ขั้นตอนทะเบียนราษฎร์

 

เอกสารที่ต้องนำมายื่น

  • คำร้องขอแจ้งเกิด  (ดาวน์โหลด)
  • สำเนาสูติบัตรเยอรมัน (mehrsprachige/Internationale Geburtsurkunde) ที่ผ่านการรับรองโดย Regierungspräsidium โดยไม่ต้องแปลเป็นภาษาไทย 
    (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ “รายชื่อ Regierungspräsidium”)
  • สำเนาเอกสารที่ระบุชื่อโรงพยาบาลที่เด็กเกิด
  • สำเนาเอกสารที่ระบุเวลาที่เด็กเกิด
  • สำเนาเอกสารที่ระบุน้ำหนักแรกเกิด

เอกสารบิดาหรือมารดาชาวไทย (กรณีบิดามารดาเป็นชาวไทยทั้งคู่ ต้องใช้เอกสารคนละ 1 ชุด)

  • สำเนาหนังสือเดินทาง
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
  • สำเนาทะเบียนบ้านไทย (ในกรณีที่อยู่ปัจจุบันไม่ตรงกับบัตรประจำตัวประชาชน)
  • สำเนาเอกสารแสดงถิ่นที่อยู่ในเยอรมนี (Aufenthaltstitel ด้านหน้า-หลัง หรือ Meldebescheinigung)

เอกสารบิดาหรือมารดาชาวช่างชาติ

  • สำเนาหนังสือเดินทาง
  • กรณีไม่มีหนังสือเดินทาง ใช้สำเนาบัตรประจำตัว (ในกรณีชาวเยอรมัน คือ Personalausweis) แทน
  • สำเนาเอกสารแสดงถิ่นที่อยู่ในเยอรมนี (Aufenthaltstitel ด้านหน้า-หลัง หรือ Meldebescheinigung)
  • Einverständniserklärung ซึ่งเป็นเอกสารที่สถานกงสุลใหญ่ฯ จะจัดเตรียมไว้ให้ ในกรณีบิดาและมารดามีสิทธิปกครองบุตรร่วมกัน บิดาหรือมารดาชาวต่างชาติต้องมาแสดงตนที่สถานกงสุลใหญ่ฯ และเซ็นเอกสารรับทราบการแจ้งเกิดบุตรตามกฎหมายไทย ต่อหน้าเจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ฯ ในวันรับสูติบัตร เพื่อหลีกเลี่ยงกรณีบิดาหรือมารดาชาวต่างชาติมากล่าวอ้างในภายหลังว่าไม่รับทราบ

เอกสารเพิ่มเติม

  • กรณีบิดามารดาจดทะเบียนสมรส
    • สำเนาทะเบียนสมรสไทย หรือ ทะเบียนฐานะแห่งครอบครัว (คร. 22) หรือ ทะเบียนสมรสเยอรมันที่ผ่านการรับรองโดย Regierungspräsidium พร้อมคำแปล

  • กรณีบิดาต่างชาติและมารดาไทยไม่ได้จดทะเบียนสมรส แต่ปรากฎชื่อบิดาในสูติบัตรเยอรมัน
    • สำเนาเอกสารการรับรองบุตรที่ออกโดยหน่วยงานเยอรมัน (Vaterschaftsanerkennung) ที่ผ่านการรับรองโดย Regierungspräsidium พร้อมคำแปล
    • สำเนาเอกสารแสดงสิทธิปกครองบุตร (Sorgerechtserklärung) หรือ สำเนาเอกสารรับรองว่ามารดามีสิทธิปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว (Negativbescheinigung vom Jugendamt) อายุไม่เกิน 6 เดือน ที่ผ่านการรับรองโดย Regierungspräsidium พร้อมคำแปล

  • กรณีบิดาไทยและมารดาต่างชาติ ไม่ได้จดทะเบียนสมรส
    • สำเนาผลการตรวจพิสูจน์ DNA พร้อมคำแปล (หากผลเป็นภาษาอังกฤษ ไม่ต้องแปล) หรือ สำเนาคำสั่งศาลไทยให้เป็นบิดาของบุตร
    • แบบคำขอพิสูจน์ความเป็นบิดาซึ่งมีสัญชาติไทย ซึ่งสถานกงสุลใหญ่ฯ จะจัดเตรียมให้ (คลิกที่นี่)
    • รูปถ่ายขนาด 4x6 ซม. ของบุตรและบิดา คนละ 1 รูป

  • กรณีบิดามารดาหย่า
    • ทะเบียนฐานะครอบครัว คร. 22 หรือ สำหรับคำพิพากษาหย่าเยอรมัน ที่ผ่านการรับรองโดย Landgericht พร้อมคำแปล
    • สำเนาเอกสารแสดงสิทธิปกครองบุตร (Sorgerechtserklärung) ที่ผ่านการรับรองโดย Regierungspräsidium พร้อมคำแปล หรือ คำพิพากษาจากศาลเยอรมันเรื่องสิทธิปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว ที่ผ่านการรับรองโดย Landgericht พร้อมคำแปล

  • กรณีสูติบัตรปรากฏแต่ชื่อมารดา แต่ไม่ปรากฏชื่อบิดา
    • สำเนาเอกสารแสดงสิทธิปกครองบุตร (Sorgerechtserklärung) หรือ สำเนาเอกสารรับรองว่ามารดามีสิทธิปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว (Negativbescheinigung vom Jugendamt) อายุไม่เกิน 6 เดือน 

  • กรณีบิดาหรือมารดาเสียชีวิต
    • สำเนามรณบัตร

  • กรณีเด็กมีอายุเกินกว่า 20 ปี
    • บันทึกสอบปากคำ โดยบิดาหรือมารดาชาวไทยเป็นผู้กรอก (คลิกที่นี่)

  • กรณีเคยมีบุตรบิดามารดาเดียวกันมาก่อน
    • สำเนาสูติบัตรไทยของบุตรคนก่อนหน้า

หมายเหตุ ต้องนำเอกสารตัวจริงทั้งหมดมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ในวันรับ และเจ้าหน้าที่สามารถขอเอกสารเพิ่มเติมได้ตามแต่กรณี

ค่าธรรมเนียม ไม่เสียค่าธรรมเนียม

ผู้ร้องจะได้รับสูติบัตรฉบับจริงจากสถานกงสุลใหญ่ฯ และหากต้องการสำเนาสูติบัตร สถานกงสุลใหญ่ฯ จะทำการรับรองสำเนาถูกต้อง โดยมีค่าธรรมเนียม 15 ยูโร / ฉบับ (สถานกงสุลใหญ่ฯ แนะนำให้ทำรับรองสำเนาถูกต้องอย่างน้อย 1 ฉบับ หากทางอำเภอที่ท่านแจ้งย้ายชื่อบุตรเข้าทะเบียนบ้านต้องการเก็บสูติบัตรไทยของบุตรไว้เป็นหลักฐาน ท่านจะได้มอบสูติบัตรฉบับรับรองสำเนาถูกต้องให้กับอำเภอ และยังมีสูติบัตรตัวจริงเก็บไว้กับตัว)

การแจ้งชื่อบุตรเข้าทะเบียนบ้านไทย

  • นำสูติบัตรไทยตัวจริง และ/หรือ สูติบัตรไทยฉบับรับรองสำเนาถูกต้อง พร้อมหนังสือเดินทางไทยหรือหนังสือเดินทางเยอรมันของบุตร ไปแจ้งย้ายชื่อบุตรเข้าทะเบียนบ้านที่อำเภอในประเทศไทย (แจ้งย้ายที่อยู่ปลายทาง)
  • ขอคัดสำเนาทะเบียนบ้านไทยของบุตร เพื่อนำมาใช้ที่ประเทศเยอรมนี
  • หากท่านไม่สามารถกลับไปดำเนินการได้ด้วยตนเอง กรุณาสอบถามทางอำเภอของท่านว่า สามารถมอบอำนาจให้ญาติ หรือเจ้าบ้าน ดำเนินการแทนได้หรือไม่ หากสามารถกระทำได้ ท่านสามารถติดต่อสถานกงสุลใหญ่ฯ แผนกรับรองนิติกรณ์เอกสาร เพื่อยื่นคำร้องทำหนังสือมอบอำนาจได้ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ในส่วน “หนังสือมอบอำนาจ/หนังสือให้ความยินยอม”)

การขอหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (อี-พาสปอร์ต) ให้บุตร

เมื่อบุตรมีสูติบัตรแล้ว ท่านสามารถยื่นคำร้องขอทำหนังสือเดินทางให้บุตรของท่านได้ (ดูเพิ่มเติมในส่วน "หนังสือเดินทาง")

ข้อควรทราบ

  • ตามกฎหมายเยอรมัน กรณีบุคคลถือ 2 สัญชาติ (เยอรมัน-ไทย) การเดินทางเข้า-ออกเยอรมนีทุกครั้ง ต้องแสดงหนังสือเดินทางทั้ง 2 สัญชาติต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง
  • ให้บุตรเดินทางเข้าประเทศไทยโดยใช้หนังสือเดินทางไทย ที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เจ้าหน้าที่ ตม. จะประทับตราเข้าประเทศไทยในหนังสือเดินทางไทยให้ และเมื่อเดินทางออกจากประเทศไทย ก็ต้องใช้หนังสือเดินทางไทยในการผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ขาออก