บริการประชาชน

บริการประชาชน

26,906 view

หนังสือมอบอำนาจ
 

บุคคลสัญชาติไทยที่อาศัยและทำงานอยู่ในเยอรมนี ที่ ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทย เพื่อไปดำเนินเรื่องต่อทางราชการในประเทศไทยด้วยตนเองได้ สามารถยื่นคำร้องขอทำหนังสือมอบอำนาจให้ผู้อื่นที่บรรลุนิติภาวะแล้ว เช่น ญาติพี่น้องหรือเพื่อน ที่อยู่ในประเทศไทยไปดำเนินการแทน

ขั้นตอนการดำเนินการ

1. เตรียมเอกสาร - 2. ส่งเอกสารมาตรวจสอบเบื้องต้นทางอีเมลหรือทางไปรษณีย์และรอการแจ้งผลกลับ (แนะนำ) - 3. จองคิวออนไลน์ -
4. รับเอกสารในวันนัดหมาย

ข้อดีของการติดต่อและส่งเอกสารมายังสถานกงสุลใหญ่ฯ เพื่อตรวจสอบล่วงหน้า

  1.  ท่านจะได้รับการแนะนำในกรณีของท่านโดยเฉพาะ
  2.  กรณีที่การทำหนังสือฯ หลายฉบับ ท่านจะได้รับคำแนะนำในการจองคิวนัดหมายออนไลน์ เพื่อให้เวลารับบริการสอดคล้องกับความต้องการ
     ของท่าน
     หากไม่ได้ติดต่อล่วงหน้า สถานกงสุลใหญ่ฯ ขอสงวนสิทธิ์ งดให้บริการและขอทำการนัดหมายใหม่ มียื่นคำร้องจำนวนมากจนไม่อาจจะทำให้
     บริการเสร็จสิ้นในเวลาที่จองมา
  3.  ท่านจะทราบแน่ชัดว่า ในวันนัดหมายต้องนำเอกสารใดมาแสดงบ้าง และ ต้องเตรียมสำเนาเอกสารแต่ละประเภทมาทั้งหมดกี่ชุด 
     สถานกงสุลใหญ่ฯ ไม่มีบริการถ่ายสำเนาเอกสาร และ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก ขอสงวนสิทธิ์ในการพิจารณาไม่รับคำร้อง หากเอกสาร
     และหลักฐานของท่านไม่สมบูรณ์ แม้ท่านจะเดินทางมาที่สถานกงสุลใหญ่ฯ ตามเวลานัดหมายแล้วก็ตาม
  4.  สถานกงสุลใหญ่ฯ สามารถเตรียมการล่วงหน้า เพื่อให้ท่านสามารถรอรับ หนังสือมอบอำนาจและหนังสือให้ความยินยอม ได้ในวันนัดหมาย
     อย่างรวดเร็ว
  5.  ท่านสามารถทราบค่าธรรมเนียมที่ต้องเตรียมเงินสดมาล่วงหน้า 
     สถานกงสุลใหญ่ฯ รับชำระค่าธรรมเนียมเป็นเงินสดเท่านั้น 

ช่องทางการส่งเอกสารเพื่อตรวจสอบเบื้องต้น

  1. ทาง E-mail : [email protected]

    ส่งเอกสารประกอบทั้งหมด อย่างละฉบับ เป็นไฟล์ PDF หรือ รูปถ่ายเอกสาร ที่สามารถอ่านรายละเอียดเอกสารได้ชัดเจน
    ท่านจะได้รับผลการตรวจสอบกลับทางอีเมล หากสถานกงสุลใหญ่ฯ ต้องการเอกสารใดเพิ่มเติม จะแจ้งให้ท่านทราบ
    อย่างไรก็ดี ในวันนัดหมาย ท่านต้องเตรียมสำเนาเอกสารมาด้วยตนเอง

  2. ทางไปรษณีย์ 

    ส่ง สำเนาเอกสารประกอบทั้งหมด มายัง

    Legalisierungsabteilung/ แผนกนิติกรณ์
    Königlich Thailändisches Generalkonsulat 
    Törringstr. 20
    81675 München

         หมายเหตุ

    1. ขอความกรุณา งดส่งเอกสารตัวจริง และ งดการแนบค่าธรรมเนียม มาในซองไปรษณีย์
    2. สถานกงสุลใหญ่ฯขอสงวนสิทธิ์ ไม่รับผิดชอบในการสูญหาย ที่เกิดระหว่างการส่งไปรษณีย์มายังสถานกงสุลใหญ่ฯ
    3. กรุณาระบุหมายเลขโทรศัพท์ของท่านเพื่อติดต่อกลับ
     


เอกสารหลักที่ต้องเตรียมในการทำหนังสือมอบอำนาจ 

  1. แบบฟอร์มคำร้องขอหนังสือมอบอำนาจ/หนังสือให้ความยินยอม (ดาวน์โหลด) 1 ฉบับ ต่อ 1 ผู้รับมอบอำนาจ

  2. สำเนาใบแสดงถิ่นที่อยู่ในเยอรมนี (ด้านหน้าและหลังของ Aufenthaltstitel / deutscher Personalausweis หรือ Meldebestätigung) ของผู้มอบอำนาจ 1 ฉบับ

  3. เอกสารหลักของผู้มอบอำนาจ ได้แก่
    • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน  2 ฉบับ ต่อ 1 สถานที่ที่ต้องไปติดต่อ
    • สำเนาหนังสือเดินทาง 2 ฉบับ ต่อ 1 สถานที่ที่ต้องไปติดต่อ
    • สำเนาทะเบียนบ้านไทย 2 ฉบับ ต่อ 1 สถานที่ที่ต้องไปติดต่อ

  4. เอกสารหลักของผู้รับมอบอำนาจ ได้แก่
    • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน  2 ฉบับ ต่อ 1 สถานที่ที่ต้องไปติดต่อ
    • สำเนาทะเบียนบ้านไทย 2 ฉบับ ต่อ 1 สถานที่ที่ต้องไปติดต่อ

  5. เอกสารที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมแล้วแต่กรณี (ดูเพิ่มเติมด้านล่าง) 

ค่าธรรมเนียมหนังสือมอบอำนาจ

15 ยูโร ต่อ 1 ตราประทับรับรองนิติกรณ์/รายการ (รับชำระเป็นเงินสดเท่านั้น)

หมายเหตุ หนังสือมอบอำนาจและให้ความยิมยอม เพื่อให้บุคคลอื่นพาบุตรไปทำหนังสือเดินทางไทยและเดินทางไปต่างประเทศ ไม่มีค่าธรรมเนียม


หนังสือมอบอำนาจที่มีผู้ยื่นคำร้องอยู่เป็นประจำ

  1. เพื่อให้บุตรทำหนังสือเดินทางไทย / ขอวีซ่าให้บุตรเดินทางไปต่างประเทศ
    เอกสารประกอบเพิ่มเติมที่ต้องใช้ร่วมกับเอกสารหลักตามรายการข้างต้น คือ
    • สำเนาหนังสือรับรองอำนาจปกครองบุตร (ป.ค. 14)
    • สำเนาสูติบัตรไทยของบุตร
    • สำเนาทะเบียนบ้านไทยของบุตร
    • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไทยของบุตร (หากมี)
    • สำเนาหนังสือเดินทางไทยฉบับเดิมของบุตร (หากมี)
    • หนังสือยินยอมให้บุตรเดินทางไปต่างประเทศ
  2. เพื่อขอออกหนังสือรับรองอำนาจปกครองบุตร (ป.ค. 14)
    เอกสารประกอบเพิ่มเติมที่ต้องใช้ร่วมกับเอกสารหลักตามรายการข้างต้น คือ
    • สำเนาสูติบัตรไทยของบุตร
    • สำเนาทะเบียนบ้านของบุตร
    • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไทยของบุตร (หากมี)

  3. เพื่อแจ้งบันทึกฐานะทางครอบครัวหลังการสมรส (แจ้งแต่งงาน)
    เอกสารประกอบเพิ่มเติมที่ต้องใช้ร่วมกับเอกสารหลักตามรายการข้างต้น คือ
    • กรณีสมรสตามกฎหมายเยอรมัน ทะเบียนสมรสเยอรมัน ที่ได้รับการรับรองจากสถานเอกอัครราชทูตไทยหรือสถานกงสุลใหญ่ไทย ประจำเยอรมนี
      พร้อมคำแปลภาษาไทย ที่ได้รับการรับรองจากสถานเอกอัครราชทูตไทยหรือสถานกงสุลใหญ่ไทย ประจำเยอรมนี
      หรือ พร้อมคำแปลภาษาไทย ที่ได้รับการรับรองจากสถานเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย
      (ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “การรับรองเอกสารราชการเยอรมันพร้อมคำแปล")
    • กรณีสมรสตามกฎหมายอื่น ทะเบียนสมรสตามกฎหมายนั้นๆ ที่ได้รับการรับรองจากสถานเอกอัครราชทูตไทยหรือสถานกงสุลใหญ่ไทย ประจำประเทศนั้นๆ
      พร้อมคำแปลภาษาไทย ที่ได้รับการรับรองจากสถานเอกอัครราชทูตไทยหรือสถานกงสุลใหญ่ไทย ประจำประเทศนั้นๆ
      หรือ พร้อมคำแปลภาษาไทย ที่ได้รับการรับรองจากสถานเอกอัครราชทูตของประเทศนั้นๆ ประจำประเทศไทย

  4. หนังสือมอบอำนาจ เพื่อแจ้งบันทึกฐานะทางครอบครัวหลังการหย่า (แจ้งหย่า)
    เอกสารประกอบเพิ่มเติมที่ต้องใช้กับเอกสารหลักตามรายงานข้างต้น คือ
    • คำพิพากษาหย่าเยอรมันและคำแปล ที่ได้รับการรับรองจากสถานเอกอัครราชทูตไทย หรือสถานกงสุลใหญ่ไทย แล้ว
      (ดูรายละเอียดได้ที่ “การรับรองเอกสารราชการเยอรมันพร้อมคำแปล”)
      หมายเหตุ หากคู่สมรสมีสัญชาติเยอรมัน ไม่ว่าจะโดยกำเนิดหรือโดยการขอสัญชาติเยอรมัน ต้องใช้คำพิพากษาหย่าจากศาลเท่านั้น จึงจะมีผลตามกฎหมายเยอรมัน
  5. เพื่อขอออกหนังสือรับรองสถานภาพสมรส (รับรองโสดจากอำเภอ ในประเทศไทย) เพื่อประกอบการสมรสในต่างประเทศ

  6. เพื่อขอหนังสือรับรองสถานภาพการสมรส (คำร้องเกี่ยวกับทะเบียนครอบครัว) จากสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง เพื่อประกอบการสมรสในต่างประเทศ

  7. เพื่อขอคัดสำเนาสูติบัตร หรือขอออกหนังสือรับรองการเกิด

  8. เพื่อขอคัดสำเนาทะเบียนบ้าน หรือขอแบบรายการทะเบียนราษฎร

  9. เพื่อเพิ่มชื่อบุตรที่เกิดในต่างประเทศเข้าทะเบียนบ้านไทย
    เอกสารประกอบเพิ่มเติมที่ต้องใช้ร่วมกับเอกสารหลักตามรายการข้างต้น คือ
    • สูติบัตรไทยของบุตร
    • สำเนาหนังสือเดินทางไทยของบุตร
  10. เพื่อดำเนินธุรกรรมที่ดิน (กรุณาติดต่อกรมที่ดิน เพื่อขอรับแบบฟอร์มหนังสือมอบอำนาจ และ สำนวนที่ใช้ในการเขียนหนังสือมอบอำนาจ)
    เอกสารประกอบเพิ่มเติมที่ต้องใช้กับเอกสารหลักตามรายการข้างต้น คือ
    • โฉนดที่ดิน หรือ นส.3 เป็นต้น

หมายเหตุ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก ขอสงวนสิทธิ์ในการขอเอกสารเพิ่มเติมตามแต่กรณี