บริการประชาชน

บริการประชาชน

12,663 view

หนังสือรับรองสถานภาพสมรส (เพื่อใช้ยื่นต่อหน่วยงานเยอรมัน)

 

ดาวน์โหลด: คำร้องขอหนังสือรับรองสถานภาพสมรส

หากท่านมีหนังสือรับรองสถานภาพสมรสจากที่ว่าการอำเภอไทย และจากสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง เขตดุสิต ไม่ว่าจะเป็นหนังสือรับรองโสดไม่เคยแต่งงานมาก่อน หรือ หนังสือรับรองโสดหลังการหย่า หรือ หนังสือรับรองโสดหลังคู่สมรสเสียชีวิต และยังมีอายุตั้งแต่วันออกหนังสือดังกล่าวไม่เกิน 6 เดือน ท่านสามารถมายื่นคำร้องขอหนังสือรับรองสถานภาพสมรสจากสถานกงสุลใหญ่ฯ หรือ "Eheunbedenklichkeitsbescheinigung" ได้

เอกสารที่ต้องเตรียม

ท่านต้องมายื่นคำร้องด้วยตัวเอง พร้อมเอกสารประกอบต่อไปนี้ โดยเซ็นชื่อในสำเนาทุกฉบับ (หากเป็นไปได้ให้นำเอกสารต้นฉบับตัวจริงมาด้วย)

  • สำเนาหนังสือเดินทาง 1 ชุด (ถ่ายสำเนาหน้าที่มีรูปถ่าย หน้าที่มีการต่ออายุ และหน้าที่มีการเปลี่ยนแปลงชื่อและนามสกุล)
  • สำเนาทะเบียนบ้านไทย 1 ชุด (หากทะเบียนบ้านไทยแปลเป็นภาษาเยอรมันแล้ว ให้ยื่นสำเนาคำแปลภาษาเยอรมันด้วย)
  • สำเนาบัตรประชาชนไทย 1 ชุด
  • สำเนาสูติบัตร หรือ สำเนาหนังสือรับรองการเกิด 1 ชุด
  • สำเนาหนังสือรับรองสถานภาพการสมรสจากอำเภอ 1 ชุด (รับรองว่าเป็นโสดไม่เคยแต่งงานมาก่อน หรือ โสดหลังหย่า หรือ โสดหลังคู่สมรสเสียชีวิต) ต้องมีอายุไม่เกิน 6 เดือน
  • สำเนาแบบคำร้องทะเบียนครอบครัวจากสำนักทะเบียนกลาง 1 ชุด ต้องมีอายุไม่เกิน 6 เดือน
  • สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ หรือ ใบเปลี่ยนนามสกุล 1 ชุด (หากมี)
  • สำเนาใบแสดงถิ่นที่อยู่ในเยอรมัน (Meldebestätigung) หรือ สำเนาหนังสือเชิญตัว 1 ชุด
  • สำเนาบัตรประชาชนของคู่หมั้น 1 ชุด
  • สำเนาใบแสดงถิ่นที่อยู่ในเยอรมัน (Meldebestätigung) ของคู่หมั้น 1 ชุด

เอกสารเพิ่มเติม

  1. กรณีที่เคยหย่าร้าง
    • หนังสือสำคัญการหย่า หรือ คำพิพากษาหย่าที่มีผลบังคับใช้แล้ว
    • หากเป็นหญิง ต้องมีหนังสือรับรองจากแพทย์ว่ามิได้ตั้งครรภ์ ถ้าหย่ายังไม่ครบ 310 วัน นับตั้งแต่วันที่การหย่ามีผลบังคับใช้

  2. กรณีที่คู่สมรสเสียชีวิต
    • มรณบัตรคู่สมรสที่เสียชีวิต
    • ทะเบียนสมรส
    • หากเป็นหญิง ต้องมีหนังสือรับรองจากแพทย์ว่ามิได้ตั้งครรภ์ ถ้าคู่สมสรสเสียชีวิตไม่เกิน 310 วัน

  3. กรณีอายุยังไม่ครบ 20 ปี บริบูรณ์
    • หนังสือยินยอมให้สมรสได้จากบิดามารดา หรือ ผู้ปกครองตามกฎหมาย ที่ขอมาจากอำเภอ

ค่าธรรมเนียม 15 ยูโร


ข้อแนะนำอื่น ๆ ที่ควรทราบ

  1. ถ้าหนังสือรับรองสถานภาพสมรส (รับรองโสด) จากอำเภอมีอายุมากกว่า 6 เดือน สถานกงสุลใหญ่ ฯ ไม่สามารถออกหนังสือรับรองสถานภาพสมรสของสถานกงสุลใหญ่ฯ (Eheunbedenklichkeitsbescheinigung) ให้ได้
  2. เจ้าของเรื่องต้องมายื่นคำร้องด้วยตัวเอง ให้คนอื่นมายื่นแทนไม่ได้ และต้องมารับเอกสารด้วยตัวเอง เพราะต้องมาเซ็นชื่อในหนังสือรับรองสถานภาพสมรสของสถานกงสุลใหญ่ฯ (Eheunbedenklichkeitsbescheinigung) ต่อหน้าเจ้าหน้าที่
  3. สถานกงสุลใหญ่ ฯ ไม่สามารถรับคำร้องขอหนังสือรับรองสถานภาพสมรสของสถานกงสุลใหญ่ฯ (Eheunbedenklichkeitsbescheinigung) ที่มายื่นโดยผู้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าของเรื่อง
  4. ก่อนแต่งงาาน ผู้ยื่นคำร้องควรทราบรายละเอียดการใช้นามสกุลตามกฎหมายไทย โดยดูข้อมูลที่ พระราชบัญญัติชื่อบุคคล (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2548

พระราชบัญญัติชื่อบุคคล (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2548

สาระสำคัญของพระราชบัญญัติชื่อบุคคล (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2548 มีดังนี้

  • การใช้ชื่อนามสกุลหลังการสมรส คู่สมรสมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตามที่ตกลงกัน หรือต่างฝ่ายต่างใช้นามสกุลเดิมของตน การตกลงกันนี้ คู่สมรสจะกระทำเมื่อมีการสมรสหรือในระหว่างสมรสก็ได้ หรือจะตกลงเปลี่ยนแปลงภายหลังก็ได้ (ตามความในมาตรา 12) ซึ่งจะทำให้คู่สมรสเลือกใช้นามสกุลได้ 4 แบบ คือ

    แบบ ชาย หญิง
    1 ชายใช้นามสกุลชาย หญิงใช้นามสกุลหญิง
    (คงนามสกุลเดิมทั้งคู่)
    2 ชายใช้นามสกุลชาย หญิงใช้นามสกุลชาย
    (รูปแบบเดิม)
    3 ชายใช้นามสกุลหญิง หญิงใช้นามสกุลหญิง
    (ชายเปลี่ยน/หญิงไม่เปลี่ยน)
    4 ชายใช้นามสกุลหญิง หญิงใช้นามสกุลชาย
    (สลับนามสกุลกัน)

 

  • สำหรับหญิงมีสามีซึ่งใช้นามสกุลของสามีก่อนวันที่พระราชบัญญัติชื่อบุคคลนี้ใช้บังคับ ให้มีสิทธิใช้นามสกุลของสามีต่อไปได้ หรือจะกลับมาใช้นามสกุลเดิมของตนก็ได้ หรือจะตกลงใหม่ระหว่างสามีภรรยาเป็นประการอื่นได้ (ตามความในมาตรา 9)

  • หากท่านใดต้องการเปลี่ยนนามสกุลหลังสมรสให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติชื่อบุคคลฉบับใหม่นี้ สามารถปฏิบัติได้ดังนี้

    • หญิงแต่งงานที่ใช้นามสกุลของสามีอยู่แล้ว (ในทะเบียนบ้านไทย) ต้องการใช้นามสกุลของสามีต่อไป สามารถใช้นามสกุลของสามีต่อไปได้
    • หญิงแต่งงานที่ใช้นามสกุลของสามีแล้ว (ในทะเบียนบ้านไทย) แต่ต้องการกลับมาใช้นามสกุลเดิมของตนเอง สามารถยื่นคำร้องขอเปลี่ยนนามสกุลได้ที่อำเภอที่ตนเองมีทะเบียนบ้านอยู่ (กรณีสมรสตามกฎหมายเยอรมัน การเลือกใช้นามสกุลในเอกสารไทยต้องสอดคล้องกับการใช้นามสกุลของตนเองตามกฎหมายเยอรมันด้วย)
    • หญิงแต่งงานที่ใช้นามสกุลตามกำเนิดของตนเองเป็นนามสกุลหลังสมรส สามารถเปลี่ยนมาใช้นามสกุลของคู่สมรสในภายหลังได้ โดยยื่นคำร้องขอเปลี่ยนนามสกุลได้ที่อำเภอที่ตนเองมีทะเบียนบ้านอยู่ (กรณีสมรสตามกฎหมายเยอรมัน การเลือกใช้นามสกุลในเอกสารไทยต้องสอดคล้องกับการใช้นามสกุลของตนเองตามกฎหมายเยอรมันด้วย)

  • การใช้นามสกุลหลังการหย่าหลังหย่าหรือศาลเพิกถอนการสมรส คู่สมรสที่ใช้นามสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งต้องกลับไปใช้นามสกุลเดิมของตน (ตามความในมาตรา 13 วรรค 1)

  • การใช้นามสกุลหลังคู่สมรสเสียชีวิตหากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียชีวิต ฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่และใช้นามสกุลของอีกฝ่ายหนึ่ง มีสิทธิ์ใช้นามสกุลนั้นต่อไปได้ แต่เมื่อจะสมรสใหม่ให้กลับไปใช้นามสกุลเดิมของตน (ตามความในมาตรา 13 วรรค 2)

  • การใช้ชื่อรองคู่สมรสอาจใช้นามสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นชื่อรองได้ เมื่อได้รับความยินยอมของของฝ่ายนั้นแล้ว (ตามความในมาตรา 6) โดยสามารถยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อรองได้ที่อำเภอที่ตนเองมีทะเบียนบ้านอยู่

  • การใช้นามสกุลควบตามกฎหมายใหม่ ไม่สามารถใช้นามสกุลควบได้ ตัวอย่างเช่น “มึลเลอร์-บางนา” เป็นต้น

โดยสรุป การใช้นามสกุลของบุคคลสัญชาติไทยที่แต่งหรือหย่าตามกฎหมายเยอรมันต้องสอดคล้องกับการใช้นามสกุลตามพระราชบัญญัติชื่อบุคคลนี้