บริการประชาชน

บริการประชาชน

33,156 view

เปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ และ/ หรือนามสกุล หลังการสมรส หรือ การหย่า

 

การเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ และ/หรือ นามสกุล หลังการสมรส และการหย่า ตามกฎหมายไทย ท่านต้องไปดำเนินการที่ประเทศไทย หรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปดำเนินการแทน (โปรดดูรายละเอียดการทำหนังสือมอบอำนาจ ที่นี่)

หญิงไทยสามารถยื่นคำร้องขอเปลี่ยนฐานะทางครอบครัวหลังการสมรส เช่น เปลี่ยนคำนำหน้าชื่อจาก “นางสาว” เป็น “นาง” และ/ หรือ ขอเปลี่ยนนามสกุลตามสามี ได้ดังนี้

การแจ้งบันทึกฐานะทางครอบครัว (คร.22) และแจ้งเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ และ/หรือ นามสกุล หลังการสมรส

  1. นำใบสำคัญการสมรสเยอรมัน (Heiratsurkunde) หรือ สำเนาคัดจากทะเบียนการสมรสแบบหลายภาษา (Internationaler Auszug aus dem Heiratseintrag) ไปรับรองที่หน่วยงานราชการเยอรมันที่เกี่ยวข้องในแต่ละรัฐ (ดูรายละเอียดการรับรองเอกสารที่ "การรับรองเอกสารราชการเยอรมันพร้อมคำแปล") และหากท่านจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายของประเทศอื่น อาทิเช่น เดนมาร์ก ต้องนำทะเบียนสมรสดังกล่าว ไปรับรองจากหน่วยงานของประเทศเดนมาร์ก และนำไปรับรองต่อที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโคเปนเฮเกน ตามลำดับ มาก่อน
    โปรดทราบ 
    "บันทึกฐานะแห่งครอบครัวเยอรมัน" (Familienbuch) และ "ใบรับรองการสมรสเยอรมัน" (Bescheinigung über die Eheschließung) นำมาใช้เป็นหลักฐานแทนใบสำคัญการสมรสไม่ได้

  2. นำทะเบียนสมรสที่รับรองโดยหน่วยงานเยอรมันแล้ว (ตามข้อ 1) ไปให้ล่าม/นักแปลภาษาไทยที่มีใบอนุญาตจากศาลเยอรมัน (รายชื่อล่ามและนักแปลภาษาไทย ดูได้ที่นี่) แปลเป็นภาษาไทย

  3. นำทะเบียนสมรส (ตามข้อ 1) และคำแปล (ตามข้อ 2) มารับรองที่สถานกงสุลใหญ่ฯ (ค่ารับรองเอกสารพร้อมคำแปล 30 ยูโร - ดูรายละเอียดได้ที่ "การรับรองเอกสารราชการเยอรมันพร้อมคำแปล")

  4. นำทะเบียนสมรสและคำแปลที่รับรองโดยสถานกงสุลใหญ่ฯ แล้ว (ตามข้อ 3) ไปรับรองต่อครั้งสุดท้ายที่ กองสัญชาติและนิติกรณ์ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 โทร. 02-575-1056-59 แฟกซ์ 02-575-1054

  5. นำทะเบียนสมรสและคำแปลที่รับรองจากกระทรวงการต่างประเทศแล้ว (ตามข้อ 4) ไปยื่นต่อนายทะเบียนเขต/อำเภอในประเทศไทยที่ท่านมีชื่อในทะเบียนบ้าน เพื่อขอให้บันทึกฐานะแห่งครอบครัวหลังการสมรส (คร. 22) และขอเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ และ/หรือ เปลี่ยนนามสกุลในทะเบียนบ้านภายหลังการสมรสต่อไป หลังจากนั้นจึงนำทะเบียนบ้านไปติดต่อขอทำบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ต่อไป (การทำบัตรต้องไปทำด้วยตนเองเท่านั้น)

  6. หากท่านไม่สามารถเดินทางกลับไปประเทศไทยเพื่อดำเนินการด้วยตนเองได้ ท่านสามารถยื่นคำร้องขอทำหนังสือมอบอำนาจเพื่อเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ และ/หรือ เปลี่ยนนามสกุล ได้ที่สถานกงสุลใหญ่ฯ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ หนังสือมอบอำนาจ/ หนังสือให้ความยินยอม”)

การแจ้งบันทึกฐานะทางครอบครัว (คร. 22) และแจ้งเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ และ/หรือ นามสกุล หลังการหย่า

  1. นำคำพิพากษาหย่าที่มีผลบังคับใช้แล้วไปรับรองจากศาลสูงของแต่ละรัฐ (Landgericht) (ดูรายละเอียดการรับรองเอกสารที่ "การรับรองเอกสารราชการเยอรมันพร้อมคำแปล")

  2. นำคำพิพากษาหย่าที่รับรองจากศาลสูง (ตามข้อ 1) แล้ว ไปให้ล่าม/นักแปลภาษาไทยที่มีใบอนุญาตจากศาลเยอรมัน (รายชื่อล่ามและนักแปลภาษาไทย ดูได้ที่นี่) แปลเป็นภาษาไทย

  3. นำคำพิพากษาหย่า (ตามข้อ 1) และคำแปล (ตามข้อ 2) มารับรองที่สถานกงสุลใหญ่ฯ (ค่ารับรองเอกสารพร้อมคำแปล 30 ยูโร - ดูรายละเอียดได้ที่ "การรับรองเอกสารราชการเยอรมันพร้อมคำแปล")

  4. นำคำพิพากษาหย่าและคำแปล ที่รับรองโดยสถานกงสุลใหญ่ฯ แล้ว (ตามข้อ 3) ไปรับรองต่อครั้งสุดท้ายที่ กองสัญชาติและนิติกรณ์ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 โทร. 02-575-1056-59 แฟกซ์ 02-575-1054

  5. นำคำพิพากษาหย่าและคำแปลที่รับรองจากกระทรวงการต่างประเทศ (ตามข้อ 4) ไปยื่นต่อนายทะเบียนเขต/อำเภอในประเทศไทยที่ท่านมีชื่อในทะเบียนบ้าน เพื่อขอให้บันทึกฐานะแห่งครอบครัวหลังการหย่า (คร. 22) และขอเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ และ/หรือ เปลี่ยนนามสกุลในทะเบียนบ้านภายหลังการหย่าต่อไป หลังจากนั้นจึงนำทะเบียนบ้านไปติดต่อขอทำบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ต่อไป (การทำบัตรต้องไปทำด้วยตนเองเท่านั้น)

  6. หากท่านไม่สามารถเดินทางกลับไปประเทศไทยเพื่อดำเนินการด้วยตนเองได้ ท่านสามารถยื่นคำร้องขอทำหนังสือมอบอำนาจเพื่อเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ และ/หรือ ขอเปลี่ยนนามสกุลที่สถานกงสุลใหญ่ฯ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ “หนังสือมอบอำนาจ/ หนังสือให้ความยินยอม”)